เมนู

บทว่า รสสา อุเปตํ ได้แก่ โภชนาหารประกอบด้วยรส คือ
ถึงพร้อมด้วยรส. บทว่า อุชุคเตสุ ความว่า ในพระขีณาสพผู้ดำเนินตรง
เพราะเว้นคดกายเป็นต้นแล้ว. บทว่า จรณูปปนฺเนสุ ความว่า ผู้ประกอบด้วย
จรณธรรม 15. บทว่า มหคฺคเตสุ คือผู้ถึงภูมิธรรมสูง. บทนั้นเป็นชื่อ
ของพระขีณาสพ. บทว่า ปุญฺเญน ปุญฺญํ สํสนฺทมานา แปลว่า การสืบต่อ
บุญด้วยบุญ. บทว่า มหปฺผลา โลกวิทูน วณฺณิตา ความว่า ทักษิณา
กล่าวคือทานเห็นปานนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงรู้แจ้งโลก ตรัสยกย่องแล้ว
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว เพราะทรงทำโลก 3 อย่าง
ให้แจ้งแล้ว. บทว่า ยญฺญมนุสฺสรนฺตา ได้แก่ ระลึกถึงยัญคือทาน. บทว่า
เวทชาตา แปลว่า เกิดความยินดีแล้ว.
จบอรรถกถาสุปปวาสสูตรที่ 7

8. สุทัตตสูตร


ว่าด้วยฐานะ 4 ประการ


[58] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรม
เทศนานี้ว่า คฤหบดี อริยสาวกเมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้สถาน 4
ประการ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย ให้สถาน 4 ประการคืออะไรบ้าง คือ ให้อายุ
ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ
ครั้นให้อายุแล้วย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ )
อายุอันเป็นของทิพย์บ้าง ของมนุษย์บ้าง ครั้นให้วรรณะ สุขะ และพละแล้ว

ย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ) วรรณะ สุขะ และพละ อันเป็นของทิพย์บ้าง
ของมนุษย์บ้าง ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกเมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่า
ให้สถาน 4 ประการนี้แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย
บุคคลใดให้โภชนาหาร แก่ปฏิคาหก
ผู้มีศีล ผู้บริโภคของที่คนอื่นให้ โดย
เคารพตามกาลอันควร บุคคลนั้นชื่อว่าให้
สถาน 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ
พละ นรชนผู้ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ
ให้พละ เกิดในภพใด ๆ ย่อมเป็นผู้อายุยืน
มียศ ในภพนั้น ๆ.

จบสุทัตตสูตรที่ 8

อรรถกถาสุทัตตสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในสุทัตตสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สญฺญตานํ ได้แก่ ปฏิคคาหกผู้สำรวมทางกายและวาจา.
บทว่า ปรทตฺตโภชินํ ความว่า ผู้บริโภคของที่บุคคลอื่นให้แล้ว จึงยัง
อัตภาพให้เป็นไปอยู่. บทว่า กาเลน ได้แก่ ตามกาลอันควร. บทว่า
สกฺกจฺจ ททาติ ความว่า ทำสักการะแล้วให้ด้วยมือของตน. บทว่า
จตฺตาริ ฐานานิ อนุปฺปเวจฺฉติ ความว่า ย่อมหลั่ง คือให้อยู่ซึ่งเหตุ 4.
บทว่า ยสวา โหติ ได้แก่ มีบริวารมาก.
จบอรรถกถาสุทัตตสูตรที่ 8